รูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
โรงเรียนบ้านบางปิ้ง
Educational Institution Administration Model through The Cooperation of Network Partners to Develop The Quality of Students at Ban Bang Ping School.
รัติยา กาหลง
Rattiya Kalong
โรงเรียนบ้านบางปิ้ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรสาคร
Ban Bang Ping School of Samut Sakhon Primary Educational Service Area Office
**************************************
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์การบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง 4) เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง กลุ่มเป้าหมาย คือ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครองนักเรียน
ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) แล้วทำการสุ่มอย่างง่าย ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 217 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 26 คน ใช้วิธีเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เป็นผู้ให้ข้อมูลในการสนทนากลุ่ม (Focus Group) ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 13 คน ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบประเมิน แบบบันทึกร้อยละของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบบันทึกร้อยละของคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน แบบบันทึกร้อยละของสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรฯ แบบบันทึกร้อยละของทดสอบสมรรถภาพทางกาย และแบบประเมินพฤติกรรม (SDQ) สถิติที่ใช้ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพปัจจุบันในการดำเนินการการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด และการจัดลำดับความต้องการจำเป็นในการดำเนินการ โดยภาพรวม มีค่าเท่ากับ 0.59 2) การสร้างและตรวจสอบรูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน (1) ด้านการวางแผน (P- Plan) (2) ด้านการดำเนินงาน (D-Do) (3) ด้านการนิเทศ กำกับ ติดตาม (S – Supervision) (4) ด้านการประเมินผลเพื่อพัฒนาในการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (E – Evaluation) (5) ด้านผลลัพธ์และการรายงานผล (R-Result & Report) 3) ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง พบว่า ในภาพรวมปีการศึกษา 2566 มีผลพัฒนาขึ้นกว่าปีการศึกษา 2565 ทุกด้านและมีผลการประเมินความพึงพอใจ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก 4) ผลการประเมินรูปแบบการบริหารสถานศึกษาโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโรงเรียนบ้านบางปิ้ง พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ได้แก่ ด้านมาตรฐานความเป็นไปได้ รองลงมา ได้แก่ ด้านมาตรฐานด้านความเป็นประโยชน์
คำสำคัญ: ความร่วมมือ, ภาคีเครือข่าย , คุณภาพผู้เรียน