ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. เปิดประชุมการนำเข้าข้อมูล eMENSCR ประจำปี 2566 และแนวทางการประเมินโครงการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้นำเข้าข้อมูล (บุคลากร สพท.)

วันที่ 13 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และแนวทางการประเมินโครงการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้นำเข้าข้อมูลโครงการ (บุคลากรของสำนักเขตพื้นที่การศึกษา) ผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน zoom และถ่ายทอดสดผ่านช่อง OBEC Channel โดย ดร.อนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ดร.วรัญญภรณ์ ชาลีรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านติดตามตรวจสอบการดำเนินการบริหารจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าร่วมประชุมและให้แนวทางในการติดตามและประเมินผลโครงการฯ โดยมี ดร.มนทกานติ์ แก้วพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นวิทยากรบรรยายการสร้างความเข้าใจของการดำเนินการติดตาม ประเมินผลการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในภาพรวม และการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมประชุม คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่มทุกกลุ่มและผู้ที่เกี่ยวข้องในนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) จำนวน 245 เขต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาทักษะในการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างโครงการกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับต่างๆ และการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น                  

ดร.อนันต์ พันนึก ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบแนวทางในการดำเนินการโครงการฯที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและเน้นย้ำการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ตามปฏิทินการดำเนินงานที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีผลต่อการได้รับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานในปีถัดไป และการใช้ช่องทางรายการ คลินิก สตผ. เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการขับเคลื่อนการดำเนินงานการติดตามและประเมินผลโครงการด้วยระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) และภารกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องต่อไป