TUMHOME MODEL รวมแรง ประสานใจ แก้ไข Learning Loss

ภาวะเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ของนักเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มมาขึ้นจากที่เป็นอยู่ จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาพบว่า ภาวการณ์เรียนรู้ถดถอยเกิดขาดปัจจัยหลายประการที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ สถานะทางเศรษฐกิจครัวเรือนที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวนักเรียน แนวแก้ไขปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูเป็นรายบุคคล เพิ่มวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย

          ผลกระทบวงกว้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลถึงพัฒนาการของนักเรียน ทั้งด้านวิชาการ อารมณ์ และทางสังคม การแก้ไขปัญหาดังกล่าว สพป.เลย เขต 3 ดำเนินการช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาภาวะถดถอยการเรียนรู้ สามารถฟื้นฟูการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นปกติได้โดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการในการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ ผลการดำเนินการพบว่า ความสำเร็จประกอบไปด้วยองค์ประกอบรูปแบบวิธีการฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ 7 องค์ประกอบคือ 1) สร้างทีมงานร่วมพัฒนา (Teamwork) 2) วิเคราะห์ปัญหาสู่ความเข้าใจ (Understanding) 3) บริหารจัดการเชิงรุก (Management) 4) สุขกับงานสานความร่วมมือ (Happy with collaborations) 5) ยึดวัตถุประสงค์ (Objective) 6) ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา (Mentoring) และ 7) ประเมินผลการพัฒนา สู่ความยั่งยืน (Evaluation to sustainable development) เป็นข้อค้นพบแนวทางการฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยแบบTUMHOME Model

TUMHOME Model เป็นแนวฟื้นฟูภาวการณ์การเรียนรู้ถดถอย ซึ่งทาง สพป.เลย เขต 3 ประสบผลสำเร็จในการดำเนินการ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบมีแนวทางการดำเนินการดังนี้

1. สร้างทีมงานร่วมพัฒนา (Teamwork) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ประกอบด้วย 1) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2)  รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 3) ศึกษานิเทศก์ 4) ผู้อำนวยการสถานศึกษา

2. วิเคราะห์ปัญหาสู่ความเข้าใจ (Understanding) ดำเนินการวิเคราะห์สภาพปัญหา และสาเหตุของปัญหา ด้านวิชาการ สุขภาวะ ทักษะ อารมณ์ และ สังคม โดยการศึกษาพื้นที่เชิงลึก ในช่วงเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส Covid-19 ดังนี้

      2.1 ผู้เรียน ปัญหาที่พบคือ นักเรียนประสบปัญหาการเรียนรู้ถดถอย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขาดทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร ขาดทักษะมนุษยสัมพันธ์ มีปัญหาการปรับตัว การอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการช่วยเหลือตนเอง ความมีวินัย การควบคุมตนเอง เกิดภาวะหวาดผวาและความเครียดนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าอย่างชัดเจน

     2.2 ครูผู้สอน ปัญหาที่พบคือ มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ ผลการเรียนของนักเรียน ตลอดถึงทักษะการสอนที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี รวมทั้งความกดดันจากสถานการณ์ความคาดหวังของผู้ปกครอง ความวิตกกังวลเหล่านี้ส่งผลให้ครูมีความเครียดสูงขึ้น

     2.3 สถานศึกษา ปัญหาที่พบคือ การบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อรักษาความสมดุลย์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้ง ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยบังคับบัญชา ที่จะทำอย่างไรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าใจในสถานการณ์ ร่วมมือร่วมใจในการช่วยแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน

แนวทางแก้ไขซึ่งค้นพบจากภาคสนาม คือ 1) ร่วมมือกัน วินิจฉัย วิเคราะห์ สังเคราะห์ สภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ปัญหา โดยดำเนินการคัดกรอนักเรียนในสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน ในประเด็นต่อไปนี้ ก) ด้านการอ่านออกเขียนได้ ข) ด้านทักษะทางสังคม ค) ด้านอารมณ์ [จากการคัดกรองพบว่ามีนักเรียนจำนวน 329 คน มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ด้านการอ่านและการเขียนมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาทางอารมณ์ และทักษะทางสังคม ตามลำดับ] 2) ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางฟื้นฟูภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ โดยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอย่างหลากหลาย เช่น เสริมสร้างพลังอำนาจให้กับครู ผู้บริหารสถานศึกษาผู้ปกครอง และนักเรียน ในการเรียนรู้แบบ Active Learning, Brain based Learning, Problem based Learning เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบเปิด และการพัฒนานวัตกรรมแบบฝึกแก้ปัญหาภาวะถดถอยการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียน

3. บริหารจัดการเชิงรุก (Management)

     3.1 ดำเนินการโดยออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรีนร ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนี้

           3.1.1 ส่งเสริมครูออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียนแต่ละคน มีความยืดหยุ่น วัดประเมินผลตามสภาพจริงส่งเสริมให้นักเรียนฟื้นฟูการเรียนรู้ เน้นการอ่านออกเขียนได้

           3.1.2 จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการเชื่อมโยงสถานการณ์จริงและประสบการณ์ผู้เรียน หรือการจำลองสถานการณ์เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เชื่อมโยงความคิดรวบยอดของสาระการเรียนรู้แต่ละสาระการเรียนรู้เข้าด้วยกันเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความหมายจากสิ่งใกล้ตัว

           3.1.3 ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเป็นรายบุคคล เริ่มจากวิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล จากนั้นวางแผนพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล จัดกิจกรรมสอนซ่อมเสริมทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม

           3.1.4 จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมสำหรับนักเรียน ดำเนินการโดย 1) จัดกิจกรรมสันทนาการส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนด้วยกัน ส่งเสริมให้นักเรียนร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ทางสังคมและการอยู่ร่วมกัน เช่น กิจกรรมสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง กิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมส่งเสริมสุขอนามัย เป็นต้น

           3.1.5 ออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับนักเรียนและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความแตกต่างกัน ตรงกับความถนัด ความต้องการ และความพร้อมของนักเรียนเป็นรายบุคคล สื่อการเรียนรู้มีทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ มีทั้งสื่อที่เป็นของจริง และแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการของนักเรียนอย่างหลากหลาย

     3.2 เสริมสร้างพลังอำนาจครูและผู้บริหารสถานศึกษา (Empowerments) ดังนี้

          3.2.1 พัฒนาครูในเรื่องเทคนิคการออกแบบการเรียนรู้ การสอน สมรรถนะการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดการชั้นเรียน การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสมองเป็นฐาน (Brain based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน (Problem based Learning) เป็นต้น นอกจากนี้ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้แก้ไขปัญหาการอ่านการเขียนโดยการแจกลูกสะกดคำให้กับนักเรียน ส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัยด้วยโครงงานบ้านวิทยาศาสตร์น้อย พัฒนาเจคตินักเรียนให้เห็นถึงความสวยงามของภาษาไทยด้วยบทกลอน คำคล้องจอง และวรรณกรรมทางภาษา เป็นต้น

           3.2.2 พัฒนาสมรรถนะทางเทคโนโลยีให้กับครู เพื่อนำสื่อเทคโนโลยีดิจิทัล มาช่วยเสริมการจัดการเรียนรู้ของครู เพื่อให้การสอนของครูมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มช่องทางและโอกาสการเรียนรู้ของนักเรียน

           3.2.3 พัฒนาผู้บริหารถานศึกษาให้เป็นผู้นำทางวิชาการ ส่งเสริมให้ผู้บริหารสถานศึกษานิเทศภายในเพื่อพัฒนาคุณการสอนของครู และจัดทำคู่มือนิเทศภายในให้โรงเรียนนำไปใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน

           3.2.4 พัฒนาสื่อการเรียนรู้แบบเปิด (Open education resources) เพื่อให้โรงเรียน ครู และนักเรียน นำทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิดนี้ไปฟื้นฟูภาวะการเรียนรู้ถดถอยของนักเรียน ได้แก่ แบบฝึกพัฒนาการอ่านและการเขียน นวัตกรรมการแก้ไขปัญหานักเรียนที่มีภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ หลักสูตรการพัฒนาทักชีวิตและสังคม หลักสูตรความปลอดภัยในสถานศึกษา เป็นต้น

4. สุขกับงานสานความร่วมมือ (Happy with collaborations) ดำเนินการโดย ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ผู้ปกครอง ครู ชุมชน นักเรียน เพื่อแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของนักเรียน ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์ให้นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข ครูมีความสุขกับการจัดกิจรรม

5. ยึดวัตถุประสงค์ (Objective) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน ตรงและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ เริ่มจากการวินิจฉัยข้อบกพร่องของนักเรียน ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับการแก้ไขข้อบกพร่อง กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เพื่อแก้ไขข้อบกพร่อง ดำเนินการจัดกิจกรรมการสอนตามแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ไขภาวะถดถอยการเรียนรู้ และประเมินผลการจัดการเรียนรู้ สรุปและรายงานผล

6. ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา (Mentoring) ดำเนินการกำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา การนิเทศ เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในการแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยการเรียนรู้ ทั้งแบบ online และ onsite

7. ประเมินผลการพัฒนา สู่ความยั่งยืน (Evaluation to sustainable development) ดำเนินการประเมินผลโดยการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในลักษณะสัมมนา และการ Focus group ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงแนวดำเนินการแก้ไขภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ที่สำนักงานเขตพื้นการศึกษาได้ดำเนินการ เพื่อความยั่งยืนของการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างมีคุณภาพและยั่งยื่นต่อไป โดยได้ข้อสรุปถึงความยั่งยืนยืน คือ การคัดกรองนักเรียน การสร้างสื่อนวัตกรรมการสอน/สื่อการเรียนรู้แบบเปิด การสอนซ่อมเสริม การจัดการชั้นเรียนเชิงบวก การนิเทศภายใน

การแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยการเรียนรู้ของนักเรียนที่ได้ผลแนวทางหนึ่งคือ รูปแบบการแก้ไขภาวะถดถอยการเรียนรู้คือ TUMHOME Model เป็นการร่วมแรงประสานใจ เพื่อการแก้ไขภาวะถดถอยการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งประกอบด้วย 1) สร้างทีมงานร่วมพัฒนา (Teamwork) 2) วิเคราะห์ปัญหาสู่ความเข้าใจ (Understanding) 3) บริหารจัดการเชิงรุก (Management) 4) สานความร่วมมือ (Happy with collaborations) 5) ยึดวัตถุประสงค์ (Objective) 6) การให้คำปรึกษา (Mentoring) 7)ประเมินผลการพัฒนา สู่ความยั่งยืน (Evaluation to sustainable development) สำหรับความยั่งยืนการฟื้นฟูภาวะถดถอยการเรียนรู้สำหรับนักเรียน กระทำโดย การคัดกรองนักเรียน การสร้างสื่อนวัตกรรมการสอน/สื่อการเรียนรู้แบบเปิด การสอนซ่อมเสริม การจัดการชั้นเรียนเชิงบวก การนิเทศภายใน ดังภาพ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Message us